ร่างกายของคนก็คล้ายกับรถยนต์คันหนึ่ง เพราะในขณะที่เราสามารถเลือกได้ว่ารถของเรานั้นจะเติมน้ำมัน เบนซิล หรือแก๊สโซฮอล ฯลฯ ร่างกายของคนเราก็สามารถเลือกใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวของมันเองอย่างน่ามหัศจรรย์
เมื่อเราลุกขึ้นมาขยับร่างกายหรือออกกำลังกายในแบบต่างๆ พลังงานส่วนแรกที่ร่างกายสามารถนำมาใช้ ก็คือพลังงานที่สะสมอยู่ในเซลล์ เป็นพลังงานประเภท “ด่วนทันใจ” ภาษาคุณหมอจะเรียกกันว่าเป็นพลังงานเพื่อเอาตัวรอด เช่น คนจะเอาเข็มมาจิ้มหน้า ก้อนหินกำลังจะหล่นใส่หัว ฯลฯ เราจะกระพริบตาหรือรีบหลบปุ๊บปั๊บโดยอัตโนมัติ แต่พลังงานพวกนี้มีสะสมอยู่น้อย ร่างกายดึงมาใช้ได้แป๊บเดียวก็หมด ประมาณ 20 วินาทีเท่านั้น คือมาไวไปไวเหมือนจุดไม้ขีดไฟ ใช้ไม่นานก็จะหมดก้าน ต้องจุดก้านใหม่
พลังงานส่วนถัดมาที่ถูกนำมาใช้ คือพลังงาน “อึดได้แต่ไม่นาน” เพราะได้จากการสลายไกลโคเจน ทำให้ได้พลังงานที่สูงและรวดเร็ว เป็นพลังงานที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ แต่การได้มาของพลังงานในส่วนนี้ อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดกรดแลคติกขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้าขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเป็นตะคริวได้หากไม่หยุดออกกำลังกายหรือไม่ผ่อนความหนักลง เป็นพลังงานส่วนที่ร่างกายจะนำมาใช้ในช่วง 20 วินาที ถึง 2 นาทีแรกของการออกแรงเท่านั้น แล้วก็จะลดลง ถ้าเปรียบก็เหมือนกับถ่านไฟฉาย คืออยู่ได้อึดกว่าแต่ถึงเวลาก็หมดอยู่ดี
ถ้าเรายังคงออกกำลังต่อเนื่อง ก็มาถึงคราวพระเอกของเรา ที่เข้ามาช่วยรับช่วงต่อในขณะที่พลังงานถ่ายไฟฉายก็ยังทำอยู่แต่ลดน้อยลง พลังงานส่วนสุดท้าย นั่นก็คือพลังงาน “ไม่หนักแต่นาน” เป็นส่วนที่ได้จากการใช้ออกซิเจนในการสันดาปหรือเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการการเผาผลาญไขมันที่สะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งพลังงานในระบบนี้ เปรียบได้กับแบตเตอรี่ที่ร่างกายมีอยู่มหาศาลและสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ร่างกายสามารถออกแรงได้เป็นเวลานาน ยิ่งถ้าออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง10 นาทีขึ้นไป ร่างกายก็จะใช้พลังงานในส่วนนี้ที่ได้จากการเผาผลาญไขมันอย่างเต็มที่
นี่จึงอาจเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า “ทำไมบางคนออกกำลังกายเท่าไรก็ไม่ผอมสักที” นอกจากออกแรงไป 10 แต่กินกลับเข้าไป 100 ก็คงไม่ผอมแล้ว ก็คงเพราะออกกำลังกายไม่ถึง 10 นาที เผลอใจหยุดพักหรือลดระดับการออกกำลังกายลง ทำไม่ต่อเนื่อง ร่างกายกำลังจะเข้าสู่การใช้พลังงานจากการเผาผลาญไขมัน ดันตกม้าตาย ทำให้ระบบการดึงเอาพลังงานออกมาใช้ของร่างกาย ต้องย้อนกลับไปใช้พลังงานจากส่วนแรก หรือส่วนที่สองสลับกันไปมา ไม่ได้ข้ามมาถึงการเผาผลาญไขมันเต็มๆกับเขาเสียที
คราวหน้าถ้าออกกำลังกายก็ฮึดสู้ให้เกิน 10 นาทีเลยนะ แล้วเริ่มเมื่อมีอาการเหนื่อยหอบ อย่าลืมแอบดีใจไปกับตัวเองด้วยว่า ร่างกายกำลังต้องการออกซิเจนมากขึ้น เพื่อการเผาผลาญไขมันได้มากขึ้น และยิ่งถ้าทำรวมๆสะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ร่วมกับการกินแบบ 2:1:1 ด้วย ก็เตรียมโบกมือบอก..พุงจ๋าลาไปไกลๆ ..แล้วอย่ากลับมาให้เห็นอีกเลย ..บัย !!!